ทุนจีนล้นตลาดไทย เหตุผลเกิดจากอะไร โอกาส ความท้าทาย และทางออก

08 สิงหาคม 2567
ทุนจีนล้นตลาดไทย เหตุผลเกิดจากอะไร โอกาส ความท้าทาย และทางออก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เห็นการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน การเข้ามาของทุนจีนในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงานทดแทน หรืออุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันมีนักธุรกิจจีนเข้ามายังประเทศไทยมากมาย

สาเหตุที่นักธุรกิจจีนเข้ามาเยอะเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศจีนไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงโควิด-19 และด้วยความที่การแข่งขันในประเทศจีนนั้นสูงอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐบาลจีนได้ออกนโยบาย “China Common Prosperity” หรือ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น และลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน นักธุรกิจจีนที่มีรายได้มหาศาลจึงมักถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลจีน

หากมองย้อนกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดจีนแทบจะไม่มี Startup ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเลย เนื่องจากการทำธุรกิจในประเทศจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้โดนรัฐบาลจีนเพ่งเล็งและกำกับได้ ดังนั้นนักธุรกิจจีนจำนวนมากจึงเลือกออกมาทำธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ที่มีการให้ฟรีวีซ่ากับคนจีน เมื่อได้ฟรีวีซ่าทำให้คนจีนเริ่มบุกหนัก โดยซื้อธุรกิจ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

การลงทุนจากจีนในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความสามารถในการรองรับคนจีนเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักธุรกิจจีนมองหาโอกาสใหม่ ๆ และก้าวเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ดังนี้

1.ภาษี 0% (FTA) : เช่น นำรถยนต์ไฟฟ้าหรือสินค้าจากจีนเข้ามา ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

2.สิทธิพิเศษจาก BOI, EEC : เช่น อยากจะตั้งบริษัท สามารถเข้ามาเปิดบริษัทได้ ภาษีนิติบุคคลไม่ต้องเสีย

3.ฟรี Visa : สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ 2 อาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องขอ Visa ทำให้การเดินทางเข้าออกสะดวก

จะเห็นว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้ว ประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจจีนอย่างมาก และโครงสร้างพื้นฐานในไทยตอนนี้พร้อมรับการลงทุนจากจีนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพและอาหาร หากพูดถึงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถจำแนกเป็นประเภทได้อย่างหลากหลาย ดังนี้

1.การค้าปลีก : สินค้าอุปโภค-บริโภค, เครื่องสำอาง, ร้านอาหาร, คอนเสิร์ต, เครื่องใช้ไฟฟ้า และจิวเวลรี่

2.การท่องเที่ยว : สถานที่ท่องเที่ยว, ร้านค้าของที่ระลึก/พุทธพาณิชย์, โรงแรม และทัวร์

3.การเกษตร : สวนผลไม้ (ล้ง), ยางพารา, ไม้ดอกไม้ประดับ และผักสด

4.ภาคอุตสาหกรรม : รถยนต์ EV,วัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมเหล็ก, Lighting/Solar Cell และยา

5.เทคโนโลยี : Content OTT, Cloud & IOT, Data Center, ERP, EC Enabler

6.อาวุธ/ยุทโธปกรณ์ : รถถัง VT4, รถหุ้มเกราะ VN1, เรือดำน้ำ S26T

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสมาคมธุรกิจของจีน เมื่อมีการรวมตัวกันของคนจีน ทำให้มีสายสัมพันธ์ที่เอื้ออำนวยประโยชน์กันและกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้นักธุรกิจจีนเข้ามาประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย

รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ไทย ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยควรออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน ป้องกันไม่ให้ธุรกิจจีนเข้ามาผูกขาดตลาด และลดผลกระทบด้านลบต่อ SMEs ไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจ้างงานกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ หากรัฐบาลไม่เร่งวางมาตรการรองรับ SMEs ไทยจำนวนมากอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

ทางออกของไทยอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างการดึงดูดการลงทุนกับการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รัฐบาลควรออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกำหนดกฎข้อบังคับที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

การรับมือกับกระแสทุนจีนไม่ใช่การปิดกั้น แต่เป็นการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.